วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การสอนแบบเอกัตภาพ ( Individualized Instruction )

การสอนแบบเอกัตภาพ ( Individualized Instruction )
     การเรียนการสอนแบบนี้ในระดับโรงเรียนเพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง ในประเทศไทยเริ่มการสอนภาษาอังกฤษแบบนี้ในระดับมัธยมต้น ในปีการศึกษา 2523
     การสอนแบบเอกัตภาพนี้ยึดหลักการสอนแบบบุคคล นั่นคือ เชื่อในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล ถือว่าคนทุกคนมีความสามารถไม่เท่ากัน ใครที่เรียนดี เรียนได้เร็วควรจะไปรุดหน้ากว่าคนที่อ่อนและช้า บทเรียนที่จัดขึ้นมีทั้งบทเรียนธรรมดาและบทเรียนสำเร็จรูป ( programmed lessons )
     การสอนแบบนี้ เป็นพัฒนาการของการจัดการศึกษาตามแนวทางใหม่ เป็นการปฏิรูประบบการเรียน การสอน และการจัดห้องเรียนจากแบบเดิมที่มีครูเป็นผู้นำแต่ผู้เดียวมาเป็นระบบที่ครูและนักเรียนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในชั้นเรียนหนึ่ง ๆ โดยการแบ่งออกเป็นมุมต่าง ๆ เช่น มุม oral , reading และ writing แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ สัก 3 – 5 กลุ่มอาจจะใช้ครูผู้สอน 2 หรือ 3 คนช่วยกันสอนเป็น team teachering
     วิธีการเรียนการสอนแบบเอกัตภาพนี้ใช้ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในปีการศึกษา 2523 โดยใช้ชื่อเรียกสื่อการเรียนการสอนชุดนี้ว่า ชุดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ( Learning Kit ) ”
วิธีการสอนแบบเอกัตภาพ
1. ครูสอนสิ่งที่นักเรียนจะต้องเรียนพร้อมกันทีเดียวทั้งห้องหรือครึ่งห้อง เป็นต้นว่าการออกเสียง ไวยากรณ์ หรือคำศัพท์ สัก 10 – 15 นาที
2. แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยสัก 3 – 5 กลุ่ม มีหัวหน้าดูแลความเรียบร้อยแต่ละกลุ่มทำงานตามที่ครูมอบหมายให้ทำด้วยตนเอง ถ้ามีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือจะเข้ามาปรึกษาครูได้เป็นราย ๆ ไป ในครั้งหนึ่ง ๆ นักเรียนอาจจะเลือกทำกิจกรรมมากกว่าหนึ่งอย่างก็ได้ตามความสนใจของตน แต่ครูจะต้องเป็นผู้รับรู้ด้วย
3. การเรียนอ่านและเขียนนั้นเป็นการเรียนด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ครูมีหน้าที่ให้คำแนะนำช่วยเหลือ อธิบายอย่างคร่าว ๆ นักเรียนคนใดเรียนได้เร็ว ทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จเรียบร้อย ครูจะให้ช่วยเหลือหรือแนะนำหรือดูแลการทำแบบฝึกหัดของนักเรียนที่อ่อน
4. แต่ละครั้งนักเรียนเอางานที่สำเร็จแล้วมาให้ครูดู แล้วไปเขียนในสมุดหรือกระดาษรายงานส่วนตัวที่เรียกว่า progress chart เพื่อเป็นหลักฐานว่าในครั้งนั้น ๆ ตนได้ทำงานอะไรไปแล้วบ้าง
ข้อเสีย
1. ถ้ามีนักเรียนหลายคนในห้องเรียน จะต้องอาศัยครูหลายคนจึงจะดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง
2. จะต้องอบรมให้นักเรียนมีระเบียบวินัย ซื่อตรงต่อตนเอง สามารถบังคับใจให้ทำงานได้เองโดยไม่มีใครบังคับ
3. บทเรียนที่ใช้มักจะมีราคาแพง เพราะต้องบรรจุกิจกรรมมากอย่างเพื่อเร้าความสนใจของผู้เรียน
4. ครูจะต้องมีความสนใจต่อนักเรียนเป็นรายบุคคลอย่างแท้จริง จึงจะช่วยให้การเรียนเป็นผลสำเร็จ
5. ในห้องเรียนที่นักเรียนมีความสามารถต่างกันมาก ทำให้ยากต่อการเตรียมการสอนในส่วนของบทเรียนที่จะต้องเรียนร่วมกัน เพราะนักเรียนเก่งจะเรียนรู้เกินหน้านักเรียนที่อ่อนไปมากแล้ว แต่จะต้องมาเรียนบทเรียนย้อนหลัง ดังนั้นครูจึงต้องเตรียมบทเรียนเป็นหลายระดับ และสอนแต่ละกลุ่มด้วยเนื้อหาที่ต่างกันออกไป ทำให้ครูทำงานหนักมาก
ข้อดี
1. สามารถจะแก้ปัญหานักเรียนที่มีพื้นฐานความรู้ต่างกันได้
2. นักเรียนได้รับการฝึกภาษาอย่างทั่วถึงกัน เพราะแต่ละกลุ่มเป็นกลุ่มเล็ก
3. นักเรียนอ่อนไม่รู้สึกมีปมด้อยในการเรียน เพราะได้เรียนตามความสามารถของตนเป็นการแข่งขันกับตนเองมากกว่าแข่งกับคนอื่น
4. นักเรียนที่เรียนเก่งไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในการที่จะต้องรอนักเรียนที่เรียนช้า มีโอกาสที่จะเลือกกิจกรรมได้มากอย่างตามความสนใจของแต่ละคน
5. ฝึกให้นักเรียนรู้จักการให้และการรับ รู้จักช่วยเหลือเพื่อนร่วมชั้น เป็นการฝึกนิสัยในการที่จะดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข

วิธีการสอนแบบฟัง – พูด ( Audio – Lingual Method )

วิธีฟัง พูด ( Audio – Lingual Method )
     การสอนวิธีนี้มีชื่อเรียกหลายแบบ เช่น Oral – Aural Method และ Oral linguistic method แต่ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า Audio – Lingual Method การสอนวิธีนี้ยึดทฤษฎีที่ว่า ภาษาทุกภาษาในโลกย่อมมีระบบเสียง โครงสร้าง (ไวยากรณ์ ) และความหมายเป็นของตนโดยเฉพาะ และยึดหลักจิตวิทยาการเรียนรู้แบบศึกษาพฤติกรรม ( behaviorism ) ซึ่งเชื่อว่าภาษานั้นเป็นพฤติกรรม เมื่อผู้เรียนมีสิ่งเร้าซึ่งเกิดขึ้นโดยการที่ครูเป็นผู้ให้แบบอย่างทางภาษาโดยการพูดหรือเขียน เมื่อผู้เรียนฟังหรืออ่านแล้วก็มีพฤติกรรมตอบสนองโดยการพูดหรือเขียน ตลอดเวลาผู้สอนและผู้เรียนจะมีพฤติกรรมตอบโต้สัมพันธ์กัน คือครูประเมินผลโดยการพิจารณาจากการตอบสนองของนักเรียน ประเมินค่าแล้วให้การฝึกอย่างหนักหน่วงเป็นการเสริมแรง ( reinforcement ) โดยใช้วิธีการฝึกโครงสร้าง ( pattern ) ซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาได้อย่างอัตโนมัติ
     ในการสอนมีการเปรียบเทียบระบบเสียงและโครงสร้างของทั้งสองภาษา ( ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ) เพื่อผู้สอนจะได้เห็นข้อคล้ายคลึงและแตกต่าง เป็นประโยชน์ในการฝึก กล่าวคือถ้าเสียงหรือแบบประโยคใดคล้ายกัน ครูก็ไม่ต้องเสียเวลาฝึกมากนักเพราะนักเรียนจะเรียนรู้ได้เร็วเป็นต้นว่า ภาษาไทยมีเสียง ซึ่งคล้ายกับเสียงภาษาอังกฤษ เมื่อพบคำว่า do นักเรียนจะพูดคำนี้ได้ไม่ยากนัก แต่เมื่อมาถึงเสียง th ซึ่งอยู่ข้างหน้าคำ thing เสียงนี้ในภาษาไทยไม่มี ครูจะต้องให้ความเอาใจใส่ในการฝึกเป็นพิเศษ นักภาษาศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่าชาวต่างชาตินั้นสามารถจะฝึกหัดพูดให้เสียงเหมือนเจ้าของภาษาได้ เมื่อมีการอธิบายอย่างละเอียดถี่ถ้วนเกี่ยวกับฐานที่เกิดของเสียงต่าง ๆ และวิธีออกเสียงนั้น ๆ ต่อจากนั้นก็เปรียบเทียบในภาษาของผู้เรียนที่ใกล้เคียงกับเสียงนั้น เช่น เสียง th นี้ คนไทยอาจจะได้ยินว่าเหมือนเสียง หรือ หรือบางทีได้ยินเป็นเสียง ได้ ครูผู้สอนจะต้องชี้ให้เห็นข้อแตกต่างของเสียงเหล่านี้ และฝึกให้นักเรียนฟังจนจับข้อแตกต่างได้ เมื่อฟังได้ดีแล้วจึงฝึกให้พูดเสียงต่าง ๆ เหล่านี้ให้ถูกต้อง ในการฝึกเสียงซึ่งไม่มีในภาษาไทยนี้ จะต้องฝึกถึงขั้นที่นักเรียนทำได้จริง
      การเรียนความหมายของศัพท์ก็เช่นเดียวกัน ต้องนำมาเปรียบเทียบกันระหว่างสองภาษาเพื่อจะพิจารณาว่าทั้ง 2 ภาษาให้ความหมายเหมือนกันหรือไม่ ศัพท์อะไรบ้าง ซึ่งอธิบายความหมายความคิดและความเข้าใจในเรื่องความเป็นไปในชีวิตในแง่ต่าง ๆ คล้ายกัน หรือแตกต่างกันไป คำที่มีความหมายอย่างเดียวกันในสองภาษา การสอนก็ทำได้โดยง่าย แต่ถ้าคำใดแตกต่างกันไป ในการสอนครูควรใช้อุปกรณ์การสอนต่าง ๆ เท่าที่จะหาได้มาช่วย หรืออาจจะมีการทำแบบฝึกหัด การเปรียบเทียบ และวิธีอธิบายต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจความหมายซึ่งต่างกัน ในการสอนโครงสร้างของภาษาใหม่นั้น การสอนจะเริ่มไปจากแบบที่ทั้งสองภาษามีส่วนคล้ายกันโดยไม่ต้องอธิบายมาก ส่วนสำคัญอยู่ที่แบบสร้างที่ไม่เหมือนกัน ผู้สอนจะต้องเน้นและให้การฝึกฝนเป็นพิเศษ ในการสอนคำศัพท์นั้น ในระยะเริ่มแรกนักเรียนไม่จำเป็นต้องเรียนมากคำ แต่ละคำครูจะต้องสอนเสียง โครงสร้าง ให้นักเรียนสามารถใช้คำศัพท์นั้นได้ถูกต้อง เมื่อนักเรียนแม่นเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว และเรียนนาน ๆ เข้าจำนวนคำศัพท์ก็จะเพิ่มพูนขึ้นเอง
     ในการอธิบายบทเรียนต่าง ๆ นั้น การสอนวิธีนี้อนุโลมให้ใช้ภาษาของผู้เรียนมาอธิบายได้เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งเป็นการประหยัดเวลาด้วย แต่การใช้ภาษาไทยอธิบายนี้ ครูควรพยายามใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น การอธิบายเกี่ยวกับเรื่องไวยากรณ์หรือคำศัพท์หรือรูปประโยคที่ยาก ๆ ซึ่งไม่สามารถจะแสดงท่าทางหรือใช้อุปกรณ์การสอนช่วยได้ก็ให้แปลให้นักเรียนเข้าใจได้ แต่หลังจากแปลแล้วก็ให้มีการฝึกใช้ภาษาอังกฤษให้มาก
กลวิธีในการฝึก
การสอนภาษาแบบฟัง พูด เน้นในการฝึกฟังและพูด แล้วจึงจะถึงขั้นอ่านและเขียน การฝึกนี้มีหลักสำหรับยึด คือ
1. การเลียนแบบ เป็นขั้นเริ่มแรกของการเรียนภาษา ไม่ว่าจะเป็นการฝึกในการฟัง พูด อ่าน หรือเขียน นักเรียนย่อมจะเริ่มต้นจากการเลียนแบบทั้งนั้น เช่นเมื่อจะสอนให้เด็กมีทักษะในการฟัง ครูจะต้องพูดให้นักเรียนฟังให้เข้าใจ ในการสอนทักษะในการพูด ครูก็ต้องพูดให้นักเรียนพูดเลียนแบบ ในการอ่านและเขียน ครูจะต้องทำให้ดูเป็นแบบอย่าง ด้วยเหตุนี้ ครูจะต้องให้แบบที่ถูกต้องแก่นักเรียน มิฉะนั้นนักเรียนก็จะทำให้ลำบากในการแก้ไขในตอนหลัง การสอนภาษาต้องอาศัยการเลียนแบบ เพราะภาษาแต่ละภาษานั้นมีลักษณะของตนเอง นักเรียนจะต้องได้รับการฝึกให้เลียนแบบลักษณะนั้น ๆ ในภาษาอังกฤษ เพื่อให้เกิดความจดจำสื่อความหมายด้วยการใช้ภาษาอังกฤษอย่างแท้จริง มิใช่ใช้ภาษาอังกฤษในรูปประโยคภาษาไทย ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากภาษาอังกฤษเป็นอันมาก
2 . การฝึกซ้ำและทบทวน เมื่อนักเรียนสามารถจะเลียนแบบได้อย่างถูกต้องแล้ว ครูผู้สอนจะต้องฝึกนักเรียนต่อไป เพื่อความแม่นยำและคล่องแคล่วชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นการสอนเสียง ศัพท์ หรือโครงสร้าง การทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ นั้น จะทำให้เกิดความเคยชินขึ้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องการใช้ก็จะใช้ได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลานึกทบทวน การฝึกซ้ำและทบทวนนี้มีความสำคัญต่อการสอนภาษา เพราะ
ก. ความเคยชินทางภาษาจะเกิดขึ้นด้วยการเสริมแรง ( re – inforcement )
ข. ความแม่นยำจะเกิดขึ้นโดยการฝึกภาษาที่ถูกต้องเสมอ ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนใช้ภาษาอย่างผิด ๆ
ค. ภาษาเป็นพฤติกรรม และจะเรียนรู้ด้วยการทำพฤติกรรมนั้น ๆ โดยตรงเช่น ถ้าต้องการให้เกิดทักษะในการพูดก็ต้องฝึกพูดซ้ำ ๆ มิใช่ใช้ทักษะอื่น เช่น ฝึกทักษะอ่านเพื่อให้เกิดทักษะพูด
3. การฝึกเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษนั้น จะต้องใช้วิธีฝึกพูดเป็นรูปประโยคเสมอ เพราะการพูดนั้นเป็นทักษะง่ายและทุ่นเวลา ภายในระยะเวลาอันสั้นนักเรียนสามารถจะฝึกประโยคได้เป็นจำนวนมาก การเรียนภาษาจะเกิดความแม่นยำและคล่องแคล่วขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้มีโอกาสใช้ภาษาบ่อย ๆ
สรุปอันดับขั้นของการสอนแบบฟังพูด
1. การสอนจะต้องเริ่มต้นด้วยการออกเสียงให้ถูกต้องเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการสอนไวยากรณ์หรือสอนคำศัพท์
2. ครูผู้สอนจะต้องสอนโครงสร้างของภาษาจากง่ายที่สุดขึ้นไปเป็นขั้น ๆ
3. ในระยะแรก ๆ ที่เรียน ไม่จำเป็นจะต้องรู้คำศัพท์มาก ใช้คำศัพท์เท่าที่จำเป็นจะต้องนำไปฝึกในเรื่องโครงสร้างเท่านั้น เมื่อนักเรียนรู้จักโครงสร้างดีแล้ว ต่อจากนั้นก็จะเพิ่มพูนคำศัพท์ได้เมื่อเรียนมาก ๆ ขึ้น และสามารถนำคำศัพท์นั้น ๆ ไปใช้ได้อย่างถูกต้องตามโครงสร้างที่ตนแม่นแล้ว
4. การสอนจะตั้งต้นด้วยการสอนการออกเสียง โครงสร้าง ( ไวยากรณ์ ) คำศัพท์ การเขียนและการอ่าน
5. การสอนทุกชนิดจะต้องให้นักเรียนฝึกปากเปล่าจนคล่องเสียก่อน
ตัวอย่างของหนังสือที่เขียนตามวิธีสอนแบบนี้ได้แก่หนังสือ English for Thai Students เล่มเก่า ซึ่งขณะนี้ไม่มีโรงเรียนใดใช้แล้ว
ข้อเสียของวิธีสอนแบบฟังพูด
1. ผู้เรียนไม่มั่นคงในความรู้ภาษาอังกฤษนัก เพราะการสอนเน้นที่การแสดงออกอย่างเดียว ไม่เน้นการเรียนรู้ความหมายภาษาอันดับแรก
2. ผู้เรียนไม่มีความสามารถในการสร้างสรรค์ประโยค เพราะเรียนโดยวิธีเลียนแบบเป็นส่วนใหญ่ ความรู้ความสามารถจึงอยู่ในลักษณะที่จำกัด
3. ครูจะต้องเตรียมบทเรียนนานและละเอียดถี่ถ้วน ทั้งจะต้องเตรียมอุปกรณ์ประกอบการสอนอย่างมาก
4. ครูจะต้องใช้เวลาในการสอนมาก เพราะการสอนทุกทักษะจะต้องใช้วิธีฝึกอย่างหนักหน่วง เพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้ภาษาอย่างอัตโนมัติ
5. ครูจะต้องได้รับการฝึกหัดอย่างเชี่ยวชาญ รู้ภาษาอังกฤษอย่างดี จึงจะเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาได้
ข้อดี
1. สอนตามหลักธรรมชาติของการเรียนภาษา
2. ส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจภาษาได้โดยเร็ว เป็นการประหยัดเวลา
3. การสอนจะช่วยให้นักเรียนพอใจและสนุกสนาน เพราะนักเรียนจะเป็นฝ่ายที่มีกิจกรรมตลอดเวลา ทำให้บทเรียนมีชีวิต
4. นักเรียนมีความมั่นใจว่าตนใช้ภาษาได้ถูกต้อง เพราะมีแบบของภาษาที่ถูกต้องเป็นแบบอย่าง
5. นักเรียนเรียนด้วยความรู้สึกสบายใจ เพราะบทเรียนเริ่มจากของง่ายและค่อย ๆ มากเพิ่มขึ้นเป็นขั้น ๆ ไป
6. นักเรียนรู้สึกว่าสิ่งที่ตนเรียนไปนั้นมองเห็นผลที่จะได้รับปลายทางว่าเมื่อเรียนแล้วจะเอาไปพูด อ่านหนังสืออังกฤษรู้เรื่อง และจะเขียนก็ได้

วิธีตรง ( Direct Method )

วิธีตรง ( Direct Method )
     วิธีนี้ผู้สอนไม่ใช้ภาษาไทยในห้องเรียนเลย เช่นเดียวกับวิธีธรรมชาติ วิธีนี้ย้ำในเรื่องการพูด และตรงกันข้ามกับวิธีแปลเลยทีเดียว โดยที่นักเรียนไม่จำเป็นต้องเอาใจใส่กับกฎเกณฑ์และศัพท์เฉพาะต่าง ๆ ในตำราไวยากรณ์ แต่นักเรียนจะเรียนไวยากรณ์ด้วยการใช้และพูดประโยคต่าง ๆ ด้วยปากเปล่าซ้ำ ๆ การสอนใช้ภาษาอังกฤษโดยตลอดไม่ใช้การแปลเลย ในการสอนศัพท์ก็ใช้วัตถุหรือรูปภาพ ส่วนคำที่แสดงกิริยาได้ก็แสดงกิริยาให้ดู และการสอนศัพท์แต่ละคำนั้นจะใช้รูปของประโยค คำศัพท์จะไม่ปรากฏเดี่ยว ๆ เป็นอันขาด เช่น ครูจะสอนคำว่า “ pencil ” และ “ blackboard ” ก็ชี้ที่ดินสอและถามว่า “ What is this ? ” ตอบว่า “ It is a pencil . ” “ What is that ? ” และตอบว่า “ It is a blackboard .”
       นักเรียนจะได้รับการฝึกให้ฟัง เลียนแบบ และพูดจนกระทั่งมีความสามารถที่จะใช้ประโยคต่าง ๆ เหล่านั้นได้โดยอัตโนมัติไม่ต้องหยุดคิดเลยดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในการสอนวิธีนี้เน้นในเรื่องความเข้าใจและการใช้ทักษะในด้านภาษา โดยอาศัยหลักที่ว่า ภาษาพูดเป็นภาษาแรก ครูจึงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในภาษาใหม่ด้วยวิธีปากเปล่าก่อน แล้วจึงจะสอนอ่านและเขียน
ข้อเสีย
     การสอนวิธีนี้มีช่องโหว่อยู่ที่ว่า มุ่งจะให้นักเรียนพูดอย่างเดียว แต่ไม่ได้ระวังในเรื่องโครงสร้างของประโยคให้การสอนดำเนินไปตามลำดับขั้นของความยากง่าย บางทีครูอาจจะนำเอาประโยคที่ยาก ๆ สลับซับซ้อนมาสอนก่อนประโยคธรรมดา หรือมิฉะนั้นประโยคที่นักเรียนฝึกในชั่วโมงนั้น อาจจะไม่มีประโยคที่ซ้ำกันเลย นักเรียนจะไขว้เขวได้ง่ายที่สุด   การใช้วิธีนี้สอน ครูจะต้องเป็นผู้พูดภาษาอังกฤษได้คล่องและถูกต้อง มิฉะนั้นแล้วนักเรียนก็จะเรียนแบบประโยคที่ผิด ๆ
     การเรียนวิธีนี้ให้ได้ผล นักเรียนที่มีอยู่ในชั้นจะต้องมีจำนวนไม่มากนัก และชั่วโมงที่เรียนไม่ควรจะน้อยกว่าสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกหัดอย่างเพียงพอ และครูได้อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนอย่างทั่วถึง
     อนึ่ง ครูผู้สอนโดยวิธีนี้มักจะคิดว่า การเรียนไวยากรณ์นั้นไม่ทำให้การเรียนภาษาอังกฤษได้ผลขึ้น โดยเข้าใจว่า เวลาที่คนใช้ภาษาของตนเองจริง ๆ เช่น ภาษาไทยก็ไม่มีใครท่องกฎเกณฑ์ ครูพวกนี้จึงไม่สอนไวยากรณ์เอาเสียเลย ตามความจริงแล้วปรากฏว่าการเรียนภาษาต่างประเทศนั้นจะเรียนได้เร็วและง่ายเข้าถ้าผู้เรียนได้เข้าใจในเรื่องโครงสร้างของภาษาที่ตนเรียน
     เนื่องจากในการเรียน ครูอธิบายศัพท์ด้วยการใช้อุปกรณ์การสอนและท่าทางประกอบแต่ถ้าสิ่งใดที่ละเอียดลึกซึ้งและเป็นนามธรรมครูก็มักจะข้ามไปเสีย เพราะดังได้กล่าวมาแล้วว่า ในชั้นเรียนนั้นครูจะใช้เฉพาะภาษาอังกฤษ ครูจะไม่ใช้ภาษาไทยอธิบายเป็นอันขาด ดังนั้นจึงมีคำเป็นส่วนมากที่ครูอธิบายและปล่อยให้นักเรียนเข้าใจความหมายเอาเอง ซึ่งอาจจะผิดบ้าง ถูกบ้าง
     ข้อที่มีผู้ติวิธีสอนแบบนี้มากก็คือ บางที่การอธิบายเป็นภาษาอังกฤษนั้นเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ คำศัพท์คำเดียวกันนั้น ถ้าอธิบายเป็นภาษาของผู้เรียนเสียเลยนักเรียนก็จะเข้าใจทันทีไม่ต้องเสียเวลาให้นักเรียนเดา
ข้อดี
     ถึงแม้ว่าการสอนวิธีนี้จะมีข้อบกพร่องต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อเทียบกับการสอนแบบแปลแล้วก็นับว่ามีประโยชน์กว่าแบบแปลมาก ในด้านที่ว่านักเรียนได้รับการฝึกให้พูด นักเรียนที่มีพื้นฐานในการพูดดีก็สามารถเรียนการอ่านและการเขียนได้ง่ายและละเอียดกว่านักเรียนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย
     การสอนแบบนี้นับว่าเป็นบันไดที่นำให้นักภาษาศาสตร์ค้นหาวิธีปรับปรุงการสอนภาษาอังกฤษให้ได้ผลขึ้นไปกว่านี้

วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

My certificates






แนวคิดและวิธีการสอนภาษาอังกฤษ - อดีตถึงปัจจุบัน

แนวคิดและวิธีการสอนภาษาอังกฤษ - อดีตถึงปัจจุบัน
แนวคิดและวิธีสอนภาษาอังกฤษที่มีอิทธิพลต่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (ESL) และภาษาต่างประเทศ (EFL) มีดังนี้
        1. การสอนแบบไวยากรณ์และแปล (grammar-translation method)
        2. วิธีสอนแบบตรง (direct method)
        3. วิธีสอนแบบฟัง-พูด (audio-lingual method)
        4. การสอนตามแนวทฤษฎีการเรียนแบบความรู้ความเข้าใจ (cognitive code-learning)
        5. การสอนตามแนวธรรมชาติ (natural approach)
        6. การสอนแบบเงียบ (silent way)
        7. การสอนแบบชักชวน ( suggestopedia )
        8. การสอนแบบตอบสนองด้วยท่าทาง (total physical response method)
        9. การสอนแบบกลุ่มสัมพันธ์ (community language learning)
        10. การสอนตามแนวสื่อสาร (communicative language teaching)  

แนวโน้มการเรียนภาษาอังกฤษในอนาคต

        1. การสอนตามแนว cognitive-constructivist approach to language learning)
        2. การเรียนตามแนวบูรณาการเนื้อหาและภาษา (content and language integrated learning)
        3. การเรียนแบบร่วมมือ (cooperative learning)
        4. การบูรณาการภาษากับวัฒนธรรม (integration of culture in language learning)
        5. การบูรณาการวรรณคดีกับการเรียนภาษา (integration of literature in language learning
 แนวคิดและวิธีสอนภาษาที่มีอิทธิพลต่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ในประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต การสอนภาษาอังกฤษตามแนวสื่อสาร communicative language teaching (CLT)           

 การสอนตามแนวสื่อสารคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร

          การสอนตามแนวสื่อสารได้ถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรก ในแถบอเมริกาเหนือและยุโรปในช่วงปี 1970 การสอนตามแนวสื่อสารเกิดขึ้นในยุโรป เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้อพยพเข้าไปอาศัยในยุโรปเป็นจำนวนมาก สมาพันธ์ยุโรป (Council of Europe) จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรการสอนภาษาที่สองแบบเน้นหน้าที่และสื่อความหมาย (functional national syllabus design) เพื่อช่วยให้ผู้อพยพสามารถใช้ภาษาที่สองในการสื่อสาร ในส่วนของอเมริกาเหนือไฮมส์ (Hymes) ได้ใช้คำว่า ความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร (communicative competence) หมายถึงความสามารถในการปฎิสัมพันธ์ หรือปะทะสังสรรค์ทางด้านสังคม (social interaction) ซึ่งความสามารถทางด้านภาษาที่สำคัญที่สุดคือ ความสามารถที่จะพูด หรือเข้าใจคำพูดที่อาจไม่ถูกหลักไวยากรณ์ แต่มีความหมายเหมาะสมกับสภาพการณ์ที่คำพูดนั้นถูกนำมาใช้ (Savignon, 1991)
          การสอนภาษาแบบสื่อสาร (Communicative Language Teaching - CLT) คือแนวคิดซึ่งเชื่อมระหว่างความรู้ทางภาษา (linguistic knowledge) ทักษะทางภาษา (language skill) และความสามารถในการสื่อสาร (communicative ability) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้โครงสร้างภาษาเพื่อสื่อสาร (Canale & Swain, 1980 ; Widdowson, 1978). คเนล และสเวน (1980) และเซวิกนอน (Savignon, 1982) ได้แยกองค์ประกอบของความสามารถในการสื่อสารไว้ 4 องค์ประกอบ ดังนี้
          1. ความสามารถทางด้านไวยากรณ์หรือโครงสร้าง (grammatical competence) หมายถึงความรู้ทางด้านภาษา ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ โครงสร้างของคำ ประโยค ตลอดจนการสะกดและการออกเสียง
          2. ความสามารถด้านสังคม (sociolinguistic competence) หมายถึงการใช้คำ และโครงสร้างประโยคได้เหมาะสมตามบริบทของสังคม เช่น การขอโทษ การขอบคุณ การถามทิศทางและข้อมูลต่าง ๆ และการใช้ประโยคคำสั่ง เป็นต้น
          3. ความสามารถในการใช้โครงสร้างภาษาเพื่อสื่อความหมายด้านการพูด และเขียน (discourse competence) หมายถึง ความสามารถในการเชื่อมระหว่างโครงสร้างภาษา (grammatical form) กับความหมาย (meaning) ในการพูดและเขียนตามรูปแบบ และสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
          4. ความสามารถในการใช้กลวิธีในการสื่อความหมาย (strategic competence) หมายถึงการใช้เทคนิคเพื่อให้การติดต่อสื่อสารประสบความสำเร็จโดยเฉพาะการสื่อสารด้านการพูด ถ้าผู้พูดมีกลวิธีในการที่จะไม่ทำให้การสนทนานั้นนั้นหยุดลงกลางคัน เช่นการใช้ภาษาท่าทาง (body language) การขยายความโดยใช้คำศัพท์อื่นแทนคำที่ผู้พูดนึกไม่ออก เป็นต้น
          จะเห็นได้ว่า CLT ไม่ได้ละเลยโครงสร้างทางไวยากรณ์ แต่ในการสอนโครงสร้างทางไวยากรณ์ต้องเน้นการนำหลักไวยากรณ์เหล่านี้ไปใช้ เพื่อการสื่อความหมายหรือการสื่อสารคเนล และสเวน (Canale & Swain, 1980) อธิบายไว้อย่างชัดเจนถึงความสำคัญของกฎเกณฑ์และโครงสร้างทางภาษา ถ้าปราศจากกฎเกณฑ์ และโครงสร้างแล้วความสามารถทางการสื่อสารของผู้เรียนจะถูกจำกัด ดังนั้น ความคล่องแคล่วในการใช้ภาษา (fluency) และความถูกต้องในการใช้ภาษา (accuracy) จึงมีความสำคัญเท่ากัน
บทบาทของผู้เรียน (learner roles)            
           บรีนและแคนดริน (อ้างใน Richards & Rodgers, 1995) อธิบายบทบาทของผู้เรียนตามแนว CLT ผู้เรียนคือผู้ปรึกษา (negotiator) การเรียนรู้เกิดจากการปรึกษาหารือในกลุ่มผู้เรียน โดยผู้สอนจัดกิจกรรม ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ จุดมุ่งหมายหลักในการทำกิจกรรมกลุ่มคือมุ่งให้ผู้เรียนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้จักการให้พอ ๆ กับการรับ
บทบาทของครู (teacher roles)      
           ครูมีบทบาทที่สำคัญ 3 บทบาท คือผู้ดำเนินการ (organizer, facilitator)เตรียมและดำเนินการจัดกิจกรรม ผู้แนะนำหรือแนะแนว (guide) ขั้นตอนและกิจกรรมต่าง ๆ และเป็นผู้วิจัยและผู้เรียน (researcher, learner) เรียนรู้พฤติกรรมการเรียนของนักเรียนแต่ละคน นอกจากนั้นครูอาจมีบทบาทอื่น ๆ เช่น ผู้ให้คำปรึกษา(counselor) ผู้จัดการกระบวนการกลุ่ม (group process manager) ครูตามแนวการสอนแบบCLT เป็นครูที่เป็นศูนย์กลางน้อยที่สุด (less teacher centered) นั่นคือครูมีหน้าที่ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อการสื่อสารและในช่วงที่นักเรียนทำกิจกรรมครูจะกระตุ้นให้กำลังใจช่วยเหลือให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารให้ได้ความหมายและถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ อันเป็นการเชื่อมช่องว่างระหว่างความสามารถทางไวยากรณ์ (grammar competence) และความสามารถทางด้านสื่อสาร (communicative competence) ของผู้เรียน
บทบาทของสื่อการเรียนการสอน (the role of instructional materials)       
           การสอนตามแนว CLT จำเป็นที่ต้องใช้สื่อที่หลากหลาย เพราะสื่อมีความสำคัญต่อการเรียนแบบปฏิสัมพันธ์หรือการเรียนแบบร่วมมือและการฝึกใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร สื่อที่สำคัญ 3 อย่างที่ใช้สำหรับการสอนตามแนว CLT ได้แก่ เนื้อหา (text-based) งาน/กิจกรรม (task-based) ของจริง(realia)
        - เนื้อหา (text-based material) ในปัจจุบันมีตำราเรียนจำนวนมากมายที่สอดคล้องกับการเรียน/สอนตามแนว CLT ซึ่งการออกแบบตำราเรียนกิจกรรมและเนื้อหาแตกต่างจากตำราที่แต่งขึ้นมาเพื่อสอนไวยากรณ์ ยกตัวอย่าง แบบเรียน CLT จะไม่มีแบบฝึกหัด (drill) หรือโครงสร้างประโยคส่วนมากแบบเรียนที่เน้น CLT จะประกอบไปด้วยข้อมูลในรูปต่าง ๆ เช่น การจัดสถานการณ์ที่ให้ผู้เรียนแสดงบทบาทสมมุติหรือกิจกรรมคู่ หรืออาจกำหนดเรื่อง (theme) ที่จะเรียนแล้วมีกิจกรรมที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องนั้น
         - งาน/กิจกรรม (task-based material) เกมส์ต่าง ๆ บทบาทสมมุติ การเลียนแบบ และกิจกรรมอื่น ๆ เช่น กิจกรรมการสอบถามแลกเปลี่ยนข้อมูล (gap conversation) กิจกรรม Jigsaw ที่เน้นให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ทำงานเป็นกลุ่มร่วมมือกัน
         - สื่อที่เป็นของจริง (realia) CLT เน้นการใช้สื่อที่เป็นของจริง (authentic material) เช่น ป้ายประกาศโฆษณา หนังสือพิมพ์รูปภาพ แผนที่ เป็นต้น