วิธีฟัง – พูด ( Audio – Lingual Method )
การสอนวิธีนี้มีชื่อเรียกหลายแบบ เช่น Oral – Aural Method และ Oral linguistic method แต่ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า Audio – Lingual Method การสอนวิธีนี้ยึดทฤษฎีที่ว่า ภาษาทุกภาษาในโลกย่อมมีระบบเสียง โครงสร้าง (ไวยากรณ์ ) และความหมายเป็นของตนโดยเฉพาะ และยึดหลักจิตวิทยาการเรียนรู้แบบศึกษาพฤติกรรม ( behaviorism ) ซึ่งเชื่อว่าภาษานั้นเป็นพฤติกรรม เมื่อผู้เรียนมีสิ่งเร้าซึ่งเกิดขึ้นโดยการที่ครูเป็นผู้ให้แบบอย่างทางภาษาโดยการพูดหรือเขียน เมื่อผู้เรียนฟังหรืออ่านแล้วก็มีพฤติกรรมตอบสนองโดยการพูดหรือเขียน ตลอดเวลาผู้สอนและผู้เรียนจะมีพฤติกรรมตอบโต้สัมพันธ์กัน คือครูประเมินผลโดยการพิจารณาจากการตอบสนองของนักเรียน ประเมินค่าแล้วให้การฝึกอย่างหนักหน่วงเป็นการเสริมแรง ( reinforcement ) โดยใช้วิธีการฝึกโครงสร้าง ( pattern ) ซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาได้อย่างอัตโนมัติ
ในการสอนมีการเปรียบเทียบระบบเสียงและโครงสร้างของทั้งสองภาษา ( ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ) เพื่อผู้สอนจะได้เห็นข้อคล้ายคลึงและแตกต่าง เป็นประโยชน์ในการฝึก กล่าวคือถ้าเสียงหรือแบบประโยคใดคล้ายกัน ครูก็ไม่ต้องเสียเวลาฝึกมากนักเพราะนักเรียนจะเรียนรู้ได้เร็วเป็นต้นว่า ภาษาไทยมีเสียง ด ซึ่งคล้ายกับเสียงภาษาอังกฤษ เมื่อพบคำว่า do นักเรียนจะพูดคำนี้ได้ไม่ยากนัก แต่เมื่อมาถึงเสียง th ซึ่งอยู่ข้างหน้าคำ thing เสียงนี้ในภาษาไทยไม่มี ครูจะต้องให้ความเอาใจใส่ในการฝึกเป็นพิเศษ นักภาษาศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่าชาวต่างชาตินั้นสามารถจะฝึกหัดพูดให้เสียงเหมือนเจ้าของภาษาได้ เมื่อมีการอธิบายอย่างละเอียดถี่ถ้วนเกี่ยวกับฐานที่เกิดของเสียงต่าง ๆ และวิธีออกเสียงนั้น ๆ ต่อจากนั้นก็เปรียบเทียบในภาษาของผู้เรียนที่ใกล้เคียงกับเสียงนั้น เช่น เสียง th นี้ คนไทยอาจจะได้ยินว่าเหมือนเสียง ซ หรือ ส หรือบางทีได้ยินเป็นเสียง ต ได้ ครูผู้สอนจะต้องชี้ให้เห็นข้อแตกต่างของเสียงเหล่านี้ และฝึกให้นักเรียนฟังจนจับข้อแตกต่างได้ เมื่อฟังได้ดีแล้วจึงฝึกให้พูดเสียงต่าง ๆ เหล่านี้ให้ถูกต้อง ในการฝึกเสียงซึ่งไม่มีในภาษาไทยนี้ จะต้องฝึกถึงขั้นที่นักเรียนทำได้จริง
การเรียนความหมายของศัพท์ก็เช่นเดียวกัน ต้องนำมาเปรียบเทียบกันระหว่างสองภาษาเพื่อจะพิจารณาว่าทั้ง 2 ภาษาให้ความหมายเหมือนกันหรือไม่ ศัพท์อะไรบ้าง ซึ่งอธิบายความหมายความคิดและความเข้าใจในเรื่องความเป็นไปในชีวิตในแง่ต่าง ๆ คล้ายกัน หรือแตกต่างกันไป คำที่มีความหมายอย่างเดียวกันในสองภาษา การสอนก็ทำได้โดยง่าย แต่ถ้าคำใดแตกต่างกันไป ในการสอนครูควรใช้อุปกรณ์การสอนต่าง ๆ เท่าที่จะหาได้มาช่วย หรืออาจจะมีการทำแบบฝึกหัด การเปรียบเทียบ และวิธีอธิบายต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจความหมายซึ่งต่างกัน ในการสอนโครงสร้างของภาษาใหม่นั้น การสอนจะเริ่มไปจากแบบที่ทั้งสองภาษามีส่วนคล้ายกันโดยไม่ต้องอธิบายมาก ส่วนสำคัญอยู่ที่แบบสร้างที่ไม่เหมือนกัน ผู้สอนจะต้องเน้นและให้การฝึกฝนเป็นพิเศษ ในการสอนคำศัพท์นั้น ในระยะเริ่มแรกนักเรียนไม่จำเป็นต้องเรียนมากคำ แต่ละคำครูจะต้องสอนเสียง โครงสร้าง ให้นักเรียนสามารถใช้คำศัพท์นั้นได้ถูกต้อง เมื่อนักเรียนแม่นเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว และเรียนนาน ๆ เข้าจำนวนคำศัพท์ก็จะเพิ่มพูนขึ้นเอง
ในการอธิบายบทเรียนต่าง ๆ นั้น การสอนวิธีนี้อนุโลมให้ใช้ภาษาของผู้เรียนมาอธิบายได้เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งเป็นการประหยัดเวลาด้วย แต่การใช้ภาษาไทยอธิบายนี้ ครูควรพยายามใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น การอธิบายเกี่ยวกับเรื่องไวยากรณ์หรือคำศัพท์หรือรูปประโยคที่ยาก ๆ ซึ่งไม่สามารถจะแสดงท่าทางหรือใช้อุปกรณ์การสอนช่วยได้ก็ให้แปลให้นักเรียนเข้าใจได้ แต่หลังจากแปลแล้วก็ให้มีการฝึกใช้ภาษาอังกฤษให้มาก
กลวิธีในการฝึก
การสอนภาษาแบบฟัง – พูด เน้นในการฝึกฟังและพูด แล้วจึงจะถึงขั้นอ่านและเขียน การฝึกนี้มีหลักสำหรับยึด คือ
1. การเลียนแบบ เป็นขั้นเริ่มแรกของการเรียนภาษา ไม่ว่าจะเป็นการฝึกในการฟัง พูด อ่าน หรือเขียน นักเรียนย่อมจะเริ่มต้นจากการเลียนแบบทั้งนั้น เช่นเมื่อจะสอนให้เด็กมีทักษะในการฟัง ครูจะต้องพูดให้นักเรียนฟังให้เข้าใจ ในการสอนทักษะในการพูด ครูก็ต้องพูดให้นักเรียนพูดเลียนแบบ ในการอ่านและเขียน ครูจะต้องทำให้ดูเป็นแบบอย่าง ด้วยเหตุนี้ ครูจะต้องให้แบบที่ถูกต้องแก่นักเรียน มิฉะนั้นนักเรียนก็จะทำให้ลำบากในการแก้ไขในตอนหลัง การสอนภาษาต้องอาศัยการเลียนแบบ เพราะภาษาแต่ละภาษานั้นมีลักษณะของตนเอง นักเรียนจะต้องได้รับการฝึกให้เลียนแบบลักษณะนั้น ๆ ในภาษาอังกฤษ เพื่อให้เกิดความจดจำสื่อความหมายด้วยการใช้ภาษาอังกฤษอย่างแท้จริง มิใช่ใช้ภาษาอังกฤษในรูปประโยคภาษาไทย ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากภาษาอังกฤษเป็นอันมาก
2 . การฝึกซ้ำและทบทวน เมื่อนักเรียนสามารถจะเลียนแบบได้อย่างถูกต้องแล้ว ครูผู้สอนจะต้องฝึกนักเรียนต่อไป เพื่อความแม่นยำและคล่องแคล่วชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นการสอนเสียง ศัพท์ หรือโครงสร้าง การทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ นั้น จะทำให้เกิดความเคยชินขึ้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องการใช้ก็จะใช้ได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลานึกทบทวน การฝึกซ้ำและทบทวนนี้มีความสำคัญต่อการสอนภาษา เพราะ
ก. ความเคยชินทางภาษาจะเกิดขึ้นด้วยการเสริมแรง ( re – inforcement )
ข. ความแม่นยำจะเกิดขึ้นโดยการฝึกภาษาที่ถูกต้องเสมอ ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนใช้ภาษาอย่างผิด ๆ
ค. ภาษาเป็นพฤติกรรม และจะเรียนรู้ด้วยการทำพฤติกรรมนั้น ๆ โดยตรงเช่น ถ้าต้องการให้เกิดทักษะในการพูดก็ต้องฝึกพูดซ้ำ ๆ มิใช่ใช้ทักษะอื่น เช่น ฝึกทักษะอ่านเพื่อให้เกิดทักษะพูด
3. การฝึกเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษนั้น จะต้องใช้วิธีฝึกพูดเป็นรูปประโยคเสมอ เพราะการพูดนั้นเป็นทักษะง่ายและทุ่นเวลา ภายในระยะเวลาอันสั้นนักเรียนสามารถจะฝึกประโยคได้เป็นจำนวนมาก การเรียนภาษาจะเกิดความแม่นยำและคล่องแคล่วขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้มีโอกาสใช้ภาษาบ่อย ๆ
สรุปอันดับขั้นของการสอนแบบฟัง – พูด
1. การสอนจะต้องเริ่มต้นด้วยการออกเสียงให้ถูกต้องเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการสอนไวยากรณ์หรือสอนคำศัพท์
2. ครูผู้สอนจะต้องสอนโครงสร้างของภาษาจากง่ายที่สุดขึ้นไปเป็นขั้น ๆ
3. ในระยะแรก ๆ ที่เรียน ไม่จำเป็นจะต้องรู้คำศัพท์มาก ใช้คำศัพท์เท่าที่จำเป็นจะต้องนำไปฝึกในเรื่องโครงสร้างเท่านั้น เมื่อนักเรียนรู้จักโครงสร้างดีแล้ว ต่อจากนั้นก็จะเพิ่มพูนคำศัพท์ได้เมื่อเรียนมาก ๆ ขึ้น และสามารถนำคำศัพท์นั้น ๆ ไปใช้ได้อย่างถูกต้องตามโครงสร้างที่ตนแม่นแล้ว
4. การสอนจะตั้งต้นด้วยการสอนการออกเสียง โครงสร้าง ( ไวยากรณ์ ) คำศัพท์ การเขียนและการอ่าน
5. การสอนทุกชนิดจะต้องให้นักเรียนฝึกปากเปล่าจนคล่องเสียก่อน
ตัวอย่างของหนังสือที่เขียนตามวิธีสอนแบบนี้ได้แก่หนังสือ English for Thai Students เล่มเก่า ซึ่งขณะนี้ไม่มีโรงเรียนใดใช้แล้ว
ข้อเสีย – ของวิธีสอนแบบฟัง – พูด
1. ผู้เรียนไม่มั่นคงในความรู้ภาษาอังกฤษนัก เพราะการสอนเน้นที่การแสดงออกอย่างเดียว ไม่เน้นการเรียนรู้ความหมายภาษาอันดับแรก
2. ผู้เรียนไม่มีความสามารถในการสร้างสรรค์ประโยค เพราะเรียนโดยวิธีเลียนแบบเป็นส่วนใหญ่ ความรู้ความสามารถจึงอยู่ในลักษณะที่จำกัด
3. ครูจะต้องเตรียมบทเรียนนานและละเอียดถี่ถ้วน ทั้งจะต้องเตรียมอุปกรณ์ประกอบการสอนอย่างมาก
4. ครูจะต้องใช้เวลาในการสอนมาก เพราะการสอนทุกทักษะจะต้องใช้วิธีฝึกอย่างหนักหน่วง เพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้ภาษาอย่างอัตโนมัติ
5. ครูจะต้องได้รับการฝึกหัดอย่างเชี่ยวชาญ รู้ภาษาอังกฤษอย่างดี จึงจะเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาได้
ข้อดี
1. สอนตามหลักธรรมชาติของการเรียนภาษา
2. ส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจภาษาได้โดยเร็ว เป็นการประหยัดเวลา
3. การสอนจะช่วยให้นักเรียนพอใจและสนุกสนาน เพราะนักเรียนจะเป็นฝ่ายที่มีกิจกรรมตลอดเวลา ทำให้บทเรียนมีชีวิต
4. นักเรียนมีความมั่นใจว่าตนใช้ภาษาได้ถูกต้อง เพราะมีแบบของภาษาที่ถูกต้องเป็นแบบอย่าง
5. นักเรียนเรียนด้วยความรู้สึกสบายใจ เพราะบทเรียนเริ่มจากของง่ายและค่อย ๆ มากเพิ่มขึ้นเป็นขั้น ๆ ไป
6. นักเรียนรู้สึกว่าสิ่งที่ตนเรียนไปนั้นมองเห็นผลที่จะได้รับปลายทางว่าเมื่อเรียนแล้วจะเอาไปพูด อ่านหนังสืออังกฤษรู้เรื่อง และจะเขียนก็ได้
ครูจะต้องได้รับการฝึกหัดอย่างเชี่ยวชาญ รู้ภาษาอังกฤษอย่างดี จึงจะเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาได้ ไม่น่าจะใช้ข้อเสียนะครับ ^^
ตอบลบ