วิธีตรง ( Direct Method )
วิธีนี้ผู้สอนไม่ใช้ภาษาไทยในห้องเรียนเลย เช่นเดียวกับวิธีธรรมชาติ วิธีนี้ย้ำในเรื่องการพูด และตรงกันข้ามกับวิธีแปลเลยทีเดียว โดยที่นักเรียนไม่จำเป็นต้องเอาใจใส่กับกฎเกณฑ์และศัพท์เฉพาะต่าง ๆ ในตำราไวยากรณ์ แต่นักเรียนจะเรียนไวยากรณ์ด้วยการใช้และพูดประโยคต่าง ๆ ด้วยปากเปล่าซ้ำ ๆ การสอนใช้ภาษาอังกฤษโดยตลอดไม่ใช้การแปลเลย ในการสอนศัพท์ก็ใช้วัตถุหรือรูปภาพ ส่วนคำที่แสดงกิริยาได้ก็แสดงกิริยาให้ดู และการสอนศัพท์แต่ละคำนั้นจะใช้รูปของประโยค คำศัพท์จะไม่ปรากฏเดี่ยว ๆ เป็นอันขาด เช่น ครูจะสอนคำว่า “ pencil ” และ “ blackboard ” ก็ชี้ที่ดินสอและถามว่า “ What is this ? ” ตอบว่า “ It is a pencil . ” “ What is that ? ” และตอบว่า “ It is a blackboard .”
นักเรียนจะได้รับการฝึกให้ฟัง เลียนแบบ และพูดจนกระทั่งมีความสามารถที่จะใช้ประโยคต่าง ๆ เหล่านั้นได้โดยอัตโนมัติไม่ต้องหยุดคิดเลยดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในการสอนวิธีนี้เน้นในเรื่องความเข้าใจและการใช้ทักษะในด้านภาษา โดยอาศัยหลักที่ว่า ภาษาพูดเป็นภาษาแรก ครูจึงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในภาษาใหม่ด้วยวิธีปากเปล่าก่อน แล้วจึงจะสอนอ่านและเขียน
ข้อเสีย
การสอนวิธีนี้มีช่องโหว่อยู่ที่ว่า มุ่งจะให้นักเรียนพูดอย่างเดียว แต่ไม่ได้ระวังในเรื่องโครงสร้างของประโยคให้การสอนดำเนินไปตามลำดับขั้นของความยากง่าย บางทีครูอาจจะนำเอาประโยคที่ยาก ๆ สลับซับซ้อนมาสอนก่อนประโยคธรรมดา หรือมิฉะนั้นประโยคที่นักเรียนฝึกในชั่วโมงนั้น อาจจะไม่มีประโยคที่ซ้ำกันเลย นักเรียนจะไขว้เขวได้ง่ายที่สุด การใช้วิธีนี้สอน ครูจะต้องเป็นผู้พูดภาษาอังกฤษได้คล่องและถูกต้อง มิฉะนั้นแล้วนักเรียนก็จะเรียนแบบประโยคที่ผิด ๆ
การเรียนวิธีนี้ให้ได้ผล นักเรียนที่มีอยู่ในชั้นจะต้องมีจำนวนไม่มากนัก และชั่วโมงที่เรียนไม่ควรจะน้อยกว่าสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกหัดอย่างเพียงพอ และครูได้อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนอย่างทั่วถึง
อนึ่ง ครูผู้สอนโดยวิธีนี้มักจะคิดว่า การเรียนไวยากรณ์นั้นไม่ทำให้การเรียนภาษาอังกฤษได้ผลขึ้น โดยเข้าใจว่า เวลาที่คนใช้ภาษาของตนเองจริง ๆ เช่น ภาษาไทยก็ไม่มีใครท่องกฎเกณฑ์ ครูพวกนี้จึงไม่สอนไวยากรณ์เอาเสียเลย ตามความจริงแล้วปรากฏว่าการเรียนภาษาต่างประเทศนั้นจะเรียนได้เร็วและง่ายเข้าถ้าผู้เรียนได้เข้าใจในเรื่องโครงสร้างของภาษาที่ตนเรียน
เนื่องจากในการเรียน ครูอธิบายศัพท์ด้วยการใช้อุปกรณ์การสอนและท่าทางประกอบแต่ถ้าสิ่งใดที่ละเอียดลึกซึ้งและเป็นนามธรรมครูก็มักจะข้ามไปเสีย เพราะดังได้กล่าวมาแล้วว่า ในชั้นเรียนนั้นครูจะใช้เฉพาะภาษาอังกฤษ ครูจะไม่ใช้ภาษาไทยอธิบายเป็นอันขาด ดังนั้นจึงมีคำเป็นส่วนมากที่ครูอธิบายและปล่อยให้นักเรียนเข้าใจความหมายเอาเอง ซึ่งอาจจะผิดบ้าง ถูกบ้าง
ข้อที่มีผู้ติวิธีสอนแบบนี้มากก็คือ บางที่การอธิบายเป็นภาษาอังกฤษนั้นเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ คำศัพท์คำเดียวกันนั้น ถ้าอธิบายเป็นภาษาของผู้เรียนเสียเลยนักเรียนก็จะเข้าใจทันทีไม่ต้องเสียเวลาให้นักเรียนเดา
ข้อดี
ถึงแม้ว่าการสอนวิธีนี้จะมีข้อบกพร่องต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อเทียบกับการสอนแบบแปลแล้วก็นับว่ามีประโยชน์กว่าแบบแปลมาก ในด้านที่ว่านักเรียนได้รับการฝึกให้พูด นักเรียนที่มีพื้นฐานในการพูดดีก็สามารถเรียนการอ่านและการเขียนได้ง่ายและละเอียดกว่านักเรียนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย
การสอนแบบนี้นับว่าเป็นบันไดที่นำให้นักภาษาศาสตร์ค้นหาวิธีปรับปรุงการสอนภาษาอังกฤษให้ได้ผลขึ้นไปกว่านี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น